การบริหารโครงการ (Project Management) และการบริหารโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Project Management)


1. การบริหารโครงการ (Project Management) และการบริหารโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Project Management) เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
การบริหารโครงการ (Project Management)
                การบริหารโครงการ (Project management) เป็นการนำความรู้ ประสบการณ์ ทักษะความชำนาญ และเครื่องมือ/เทคนิคมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ เพื่อทำให้โครงการสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ ดังนั้น ผู้จัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพจะต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการปัจจัยหลักทั้ง 4 ประการข้างต้นอย่างเหมาะสมระหว่างที่ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา และในขณะเดียวกัน ผู้จัดการโครงการดังกล่าวจะต้องคอยควบคุมดูแลให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามความต้องการและความคาดหวังของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อกิจกรรมของโครงการ นอกจากนั้น ยังต้องนำหลักการบริหารจัดการปัจจัยเสริมที่สำคัญอีก 4 ประการ มาใช้ประกอบการดำเนินโครงการอีกด้วย หลักการบริหารจัดการปัจจัยเสริมดังกล่าว คือ
1.             การบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management) ซึ่งถือเป็นกระบวนการใช้ประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2.             การบริหารการติดต่อสื่อสาร (Communications Management) ซึ่งมุ่งเน้นการจัดการข้อมูลสารสนเทศ (อันได้แก่ การผลิต การรวบรวม การเผยแพร่ การเก็บรักษาและการควบคุมข้อมูลสารสนเทศ) อย่างเหมาะสมและทันเวลา
3.             การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ประกอบด้วยการระบุ การวิเคราะห์ และการตอบรับต่อความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ตลอดช่วงการดำเนินงานของโครงการเพื่อให้โครงการสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
4.             การบริหารการจัดหาทรัพยากรภายนอก (Procurement Management) หมายถึงกระบวนการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นจากภายนอกกิจการ ทั้งวัสดุและบริการ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ


                จากรูปจะเห็นได้ว่า การนำปัจจัยหลักและปัจจัยเสริมทั้ง 8 ประการมาบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ผู้จัดการโครงการจะต้องมีความสามารถในด้านการจัดการบูรณาการงานโครงการ (Project Integration Management) เพื่อรวมสิ่งเหล่านั้นเข้าด้วยกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม จึงจะทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จลงตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้
                การบริหารจัดการโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็ไม่ได้ต่างจากโครงการอื่นๆ ในการกำหนดขอบเขตการบริหารโครงการ ดังนั้น เราจึงจำเป็นจะต้องศึกษาปัจจัยหลักและหลักการบริหารจัดการปัจจัยเสริมดังกล่าว รวมถึงการจัดการผสมผสานงานโครงการในรายละเอียด
                ในการบริหารโครงการ โดยทั่วไปนั้น จะต้องมีบุคคลจำนวนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Stakeholders หรือบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อการบริหารโครงการเหล่านี้ ประกอบด้วยทั้งผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนจากภายนอกและผู้ที่เป็นฝ่ายดำเนินโครงการภายในองค์กร รวมไปถึง ผู้ที่อาจจะมีความประสงค์ที่ไม่ดีต่อโครงการ
                ผู้จัดการโครงการที่ประสบความสำเร็จ คือ ผู้จัดการโครงการที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านี้ได้ เพื่อให้สามารถเข้าใจและตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของพวกเขาได้  บุคคลเหล่านี้ได้แก่
1.             ผู้จัดการโครงการ (Project Manager) เป็นผู้บริหารงานและรับผิดชอบงานทั่วไปเกี่ยวกับโครงการ และจำเป็นต้องทำงานร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในโครงการทุกคน เพื่อให้โครงการสำเร็จลงตามความคาดหวังหรือความต้องการที่บุคคลเหล่านั้นได้ตั้งไว้
2.             ผู้สนับสนุนโครงการ (Project Sponsor) เป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนโครงการด้านการเงิน ซึ่งอาจจะเป็นลูกค้าหรือผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เมื่อโครงการแล้วเสร็จก็ได้ ส่วนใหญ่แล้ว จะมีงบประมาณให้สำหรับเป็นต้นทุน/ค่าใช้จ่ายของโครงการค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ผู้จัดการโครงการควรที่จะประมาณการต้นทุน/ค่าใช้จ่ายและเวลาแล้วเสร็จของโครงการให้ถูกต้องเที่ยงตรงมากที่สุด นอกจากนั้น ผู้จัดการโครงการควรจะสามารถแนะนำผู้สนับสนุนโครงการเกี่ยวกับกิจกรรมของโครงการ ที่เหมาะสมกับงบประมาณที่ผู้สนับสนุนโครงการได้ตั้งไว้
3.             ทีมงานโครงการ (Project Team) มักประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ประสบการณ์ที่เหมาะสมในด้านต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อช่วยกันดำเนินโครงการให้เสร็จสมบูรณ์โดยได้รับการประสานงานจากผู้จัดการโครงการ บุคคลเหล่านี้ ควรจะได้รับข้อมูลที่ชัดเจนครบถ้วนถูกต้องเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่พวกเขาจะต้องทำ เช่น งาน/กิจกรรมที่จะต้องทำ ช่วงเวลาที่จะต้องทำและเสร็จ วัสดุ/อุปกรณ์ที่จะได้รับ เป็นต้น
4.             พนักงานทั่วไป (Support Staff) หมายถึง บุคคลอื่นๆ ที่คอยช่วยเหลือดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ (Stakeholders) อีกทีหนึ่ง เช่น นายจ้าง/หัวหน้าของผู้สนับสนุนโครงการ เลขานุการของผู้จัดการโครงการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและการตลาดของกิจการ เป็นต้น
5.             ผู้ขาย (Supplier) คือ ผู้ที่จัดหาวัสดุ/อุปกรณ์ให้กับโครงการ ซึ่งควรที่จะต้องทราบอย่างชัดเจนแน่นอน เกี่ยวกับรายละเอียดของวัสดุ/อุปกรณ์ที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในโครงการ สถานที่และเวลาที่จะต้องส่งวัสดุ/อุปกรณ์นั้นๆ
6.             ปรปักษ์ (Opponent) หรือ คู่แข่งขัน (Competitor) หมายถึง บุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากโครงการและต้องการให้โครงการดังกล่าวยุติลง (ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้) ได้แก่ คู่แข่งขันที่ต้องการดำเนินโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และมีความเป็นไปได้ที่จะแย่งลูกค้ารายเดียวกับกิจการ หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการของกิจการ เป็นต้น
                การบริหารโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ใช้หลักการเดียวกับการบริหารโครงการด้านอื่นทั่วๆ ไป ที่ผู้จัดการโครงการนอกจากจะต้องเข้าใจและมีความสามารถในการบริหารโครงการ (ซึ่งถือเป็นกระบวนการผลิตสินค้าที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนกระบวนการผลิตสินค้าประเภทอื่น) แล้ว ผู้จัดการโครงการยังควรมีความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารงานทั่วไป เช่น การบริหารงานบุคคล การวิเคราะห์ทางการเงิน การตอบสนองความต้องการของลูกค้า การควบคุมการดำเนินงาน เป็นต้น อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจำเป็นจะต้องมีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเพียงพอด้วย เนื่องจากโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (Computer Hardware) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Software) และเทคโนโลยีทางด้านโทรคมนาคม (Telecommunications Technology) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
                โครงการที่ได้ชื่อว่าเป็นโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถมีรูปแบบได้หลากหลาย บางโครงการมีจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องเพียงไม่กี่คน ขณะที่บางโครงการจำเป็นต้องอาศัยคนจำนวนหลายร้อยคนในการดำเนินงาน บางโครงการใช้เงินทุนเพียงเล็กน้อยและมีอุปกรณ์/โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องไม่มากชิ้น ขณะที่บางโครงการจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนหลายล้านบาทเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ด้านระบบเครือข่าย และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สื่อสารกันได้ทั่วโลก ในทำนองเดียวกัน บุคคลที่เข้ามาร่วมในทีมงานโครงการก็มักจะมีความรู้ประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่หลากหลาย บางคนนำความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้รับจากประสบการณ์จากการทำงานในอดีตมาใช้ มากกว่าความรู้ที่ได้รับจากสถาบันการศึกษาที่ตนเองจบมา ตำแหน่งหน้าที่ในทีมงานโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศก็มักจะได้แก่ นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจ ด้านฐานข้อมูล และด้านระบบ นักเขียนโปรแกรม ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคุณภาพ ด้านระบบเครือข่ายและระบบรักษาความปลอดภัย วิศวกรคอมพิวเตอร์ และสถาปนิกระบบ เป็นต้น มีอยู่หลายครั้งที่การติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกในทีมงานเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างการทำงานเป็นทีมแม้แต่บุคคลที่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ประเภทเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการดำเนินโครงการมีความหลากหลายแตกต่างกัน โดยที่ผู้ร่วมงานแต่ละคนก็จะมีความถนัดและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในระดับที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งผู้จัดการโครงการจะต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ในระหว่างการดำเนินโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย

 2. อธิบายภาพรวมของการบริหารโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงบูรณาการ
การบริหารโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงบูรณาการ (Information Technology Project Integration Management)
แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ทันสมัยในปัจจุบัน มักจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่คำนึงถึงการนำวิธีการและปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นในการบริหารจัดการ มาใช้ประกอบไปพร้อมๆ กัน หรือที่เรียกว่า การบริหารจัดการเชิงบูรณาการ
การบริหารโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพจึงควรกระทำในเชิงบูรณาการ
                การบริหารโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงบูรณาการ คือ การนำองค์ความรู้ในทุกๆ ด้านเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการ (คือ ความรู้ทางด้านขอบเขตงาน เวลา ต้นทุน คุณภาพ ทรัพยากรบุคคล การติดต่อสื่อสาร ความเสี่ยง และการจัดหาทรัพยากรภายนอก ) มาใช้ร่วมกันตลอดวงจรชีวิตของโครงการ การบูรณาการในลักษณะนี้จะมีผลทำให้ส่วนประกอบของโครงการทั้งหมดถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้โครงการเสร็จสิ้นสมบูรณ์
การบริหารโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงบูรณาการ
1.       การพัฒนาแผนโครงการ (Project plan development) ซึ่งได้แก่ การรวบรวมผลลัพธ์ของขั้นตอนการวางแผนต่างๆ ที่ผ่านมา แล้วมากำหนดและเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเชื่อถือได้หรือที่เรียกว่า แผนโครงการ (Project plan)
2.       การจัดการแผนโครงการ (Project plan execution) เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานตามแผนโครงการผ่านการดำเนินกิจกรรมที่ได้กำหนดไว้ตามแผน
3.       การควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเชิงบูรณาการ (Integrated change control) โดยการผสมผสานการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งโครงการเข้าด้วยกัน
                การควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเชิงบูรณาการ (Integrated Change Control)การควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเชิงบูรณาการ (Integrated change control) ประกอบด้วยการระบุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การประเมินผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น และการจัดการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดช่วงวงจรชีวิตของโครงการ วัตถุประสงค์หลักของการควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเชิงบูรณาการ มีอยู่ 3 ข้อ คือ
1.             เพื่อสร้างอิทธิพลต่อปัจจัยหลักต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจมีผลกระทบในทางลบต่อปัจจัยหลักของโครงการ อันได้แก่ ขอบเขตงาน เวลา ต้นทุน และคุณภาพของโครงการ
2.             เพื่อยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว โดยการวิเคราะห์จากสถานะภาพของกิจกรรมหลักๆ ในโครงการ นอกจากนั้น ยังถือเป็นหน้าที่ของผู้จัดการโครงการที่จะนำข้อมูลที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญไปแจ้งให้ผู้บริหารระดับสูง และบุคคลสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องทราบ
3.             เพื่อจัดการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของทั้งผู้จัดการโครงการและสมาชิกในทีมงานที่จะร่วมกันลดปริมาณการเปลี่ยนแปลงให้ลดน้อยลงมากที่สุด

3. อธิบายส่วนประกอบของแผนโครงการที่ดี โดยเฉพาะแผนโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
            แผนโครงการที่ดีจะต้องช่วยให้ทีมงานโครงการผลิตผลลัพธ์ (สินค้าหรือบริการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ) ที่ดีมีคุณภาพ แผนโครงการจะเป็นตัวกำหนดและแสดงให้เห็นว่า การดำเนินการตามแผนโครงการที่วางไว้จะส่งผลให้เกิดสินค้าหรือบริการที่ดีอย่างไรบ้าง ในทางกลับกัน การปรับปรุงแก้ไขแผนโครงการระหว่างการดำเนินโครงการจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าผู้ดำเนินโครงการคำนึงถึงและนำประสบการณ์ความรู้และบทเรียนที่ได้รับจากโครงการที่ได้ดำเนินมาแล้วในอดีต และกิจกรรมที่ได้ดำเนินเสร็จสิ้นไปแล้วในโครงการเดียวกันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว มีผู้ให้คำแนะนำเป็นหลักการง่ายๆ เพียงให้คำนึงว่า บุคคลที่จะต้องรับผิดชอบและปฏิบัติงานใดก็ควรจะเป็นบุคคลที่วางแผนงานนั้นดังนั้น จะเห็นได้ว่า สมาชิกของทีมงานโครงการทุกคน (ไม่ว่าจะมีหน้าที่รับผิดชอบและดำเนินงานใดก็ตาม) ควรจะต้องมีความสามารถและความชำนาญทั้งในด้านการวางแผนและการดำเนินงานตามแผนโครงการที่ได้วางไว้
                ในช่วงของการปฏิบัติงานตามแผนโครงการ นอกจากเราจะต้องคำนึงถึงการวางแผนโครงการและการดำเนินงานตามแผนโครงการไปพร้อมๆ กันแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างหนึ่งควบคู่ไปด้วย คือ การทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากธรรมชาติของโครงการนั้น ทรัพยากรบุคคลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญและมักจะต้องใช้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จำเป็นที่จะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์จากหลากหลายด้าน ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้จัดการโครงการจะต้องมีความเป็นผู้นำที่ดี ขณะที่องค์กรก็ควรจะคอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนบุคลากรหรือสมาชิกในทีมงานอยู่ตลอดเวลา ผู้จัดการโครงการควรเป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยการให้ความสำคัญกับการวางแผนโครงการที่มีคุณภาพและดำเนินงานตามแผนที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ตัวองค์กรก็จะต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้บุคลากรเห็นความสำคัญของการดำเนินงานโครงการตามแผนที่ได้วางไว้ เช่น ถ้าองค์กรมีนโยบายที่จะใช้แผนโครงการเป็นแนวทางหลักในการปฏิบัติงาน และตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการ วัฒนธรรมในองค์กรนี้ก็จะส่งผลให้บุคลากรทุกคนเห็นความสำคัญของการนำการวางแผนโครงการและการปฏิบัติงานตามแผนมาใช้ร่วมกัน
                การดำเนินโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพนั้น ผู้ที่จะต้องรับบทหนักและพลาดไม่ได้ก็คือ ผู้จัดการโครงการ ผู้จัดการโครงการที่ดีมีประสิทธิภาพจะต้องมีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำที่ดี มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิผล และในบางครั้งยังจำเป็นที่จะต้องนำความชำนาญทางด้านการเมืองเข้ามาใช้ประกอบการบริหารจัดการโครงการด้วยอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในบรรดาคุณสมบัติที่สำคัญและจำเป็นของผู้จัดการโครงการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ คือ ความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้เกี่ยวกับบริหารธุรกิจ และความรู้เฉพาะทางที่เกี่ยวกับโครงการนั้นโดยตรง ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่จะต้องนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ขนาดเล็ก ผู้จัดการโครงการอาจจำเป็นต้องมีส่วนร่วมหรือช่วยสมาชิกในทีมงานวิเคราะห์และออกแบบระบบหรือเขียนโปรแกรมด้วยในบางครั้ง ขณะที่โครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ขนาดใหญ่นั้น ผู้จัดการโครงการมักจะมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการเป็นผู้นำของทีมงานและคอยประสานงานกับบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่มา :
1 . www.knowledgertraining.com/index.php?tpid=0023
2.www.stjohn.ac.th/engineer/information
3. rc.nida.ac.th/th/attachments/article/77/_51.pdf
4. computer.pcru.ac.th/yupa/subject/file_subject/4133504/ch2.doc
5. www.stech.ac.th/blogs/0932/wp-content/uploads/2011/03/chapter2.pptx

6. kmcenter.rid.go.th/kmc10/data/article/2555/out-05.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น