E-business E-Commerce คืออะไร

E-business คืออะไร
e-Business นั้น คือ การดำเนินกิจกรรมทาง ธุรกิจต่างๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การใช้คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้กระบวนการทางธุรกิจ มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของคู่ค้า และลูกค้าให้ตรงใจ และรวดเร็วและเพื่อลดต้นทุน และขยายโอกาสทางการค้า และการบริการ
นอกจากนั้น E-business หรือ Electronic Business เป็นหลักสูตรการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ คือการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณการใช้ในกระบวนการทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการบวนการธุรกิจภายใน เช่น การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบันทึกการทำงาน ขาด ลา มาสายระบบ ขายสินค้า ระบบดูแลลูกค้า ระบบจองหอพัก หรืออื่นๆ อีกมากมาย และกระบวนการทางธุรกิจภายนอก เช่น ระบบจัดซื้อจัดจ้าง โดยนำธุรกิจนั้นๆ มาใช้งานบนโลกอินเตอร์เน็ตออนไลน์ เพื่อทำให้ธุรกิจนั้นมีการพัฒนาและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มข้อได้เปรียบทางการค้ามากกว่าคู่แข่งได้อย่างถูกต้องโดยสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงการสร้างความเติบโตและรวดเร็ว ลดต้นทุนพร้อมทั้งสร้างโอกาสทางการค้าหรือบริการด้วย Business Model ใหม่ถือเป็นช่องทางที่สามารถขยายธุรกิจได้อีกด้วย
 อาทิ
BI=Business Intelligence:
การรวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านตลาด ข้อมูลลูกค้า และ คู่แข่งขัน
EC=E-Commerce:
เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้เกิดการสั่งซื้อ การขาย การโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ต
CRM=Customer Relationship Management:
การบริหารจัดการ การบริการ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้ลูกค้าพึงพอใจกับทั้งสินค้า บริการ และ บริษัท – ระบบ CRM จะใช้ไอทีช่วยดำเนินงาน และ จัดเตรียมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการบริการลูกค้า
SCM=Supply Chain Management:
การประสาน ห่วงโซ่ทางธุรกิจ ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้จัดส่ง ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก จนถึงมือผู้บริโภค
ERP=Enterprise Resource Planning:
กระบวนการของสำนักงานส่วนหลัง และ การผลิต เช่น การรับใบสั่งซื้อการจัดซื้อ การจัดการใบส่งของ การจัดสินค้าคงคลัง แผนและการจัดการการผลิต– ระบบ ERP จะช่วยให้ประบวนการดังกล่าวมีประสิทธิภาพและลดต้นทุน
ประโยชน์ที่ได้รับจาก E-Business
ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำ E-Business โดยหลักๆแล้วจะเน้นไปที่การให้บริการที่สะดวกสบายของกระบวนการทางธุรกิจในด้านต่างๆ ดังนี้
1.สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าได้รวดเร็วและทันที เพราะอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถเข้าถึงง่ายและในทุกวันนี้มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย
2.เพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดได้มากขึ้นเพราะการเข้าถึงข้อมูลในปัจจุบันสามารถเก็บข้อมูลสถิติไว้ได้แล้วนำมาวิเคราะห์ช่องทางการตลาดได้อีกด้วย
3.สามารถทำธุรกิจได้ตลอดเวลาเพราะการใช้งานของอินเตอร์เน็ตนั้นมีข้อจำกัดน้อยและสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาสรุปคือไม่จำกัดเวลาและสถานที่
4.เข้าถึงข้อมูลได้อย่างกว้างขวางลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลบริการและสินค้าได้ด้วยตัวเอง
5.ลดค่าใช้จ่ายของการทำธุรกิจ เช่นการทำการตลาดแบบการโฆษณาผ่านทาง โทรทัศน์และวิทยุซึ่งเป็นช่องทางการโฆษณาที่มีต้นทุนค่อนข้างสูงพร้อมทั้งมีบริการ การชำระเงินออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Internet หรือ I-banking อีกด้วย
6.มีโมเดลทางด้านธุรกิจและมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้รวดเร็ว

E-Commerce คืออะไร
    E-Commerce มีชื่อที่แปลเป็นภาษาไทยว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” โดยความหมายของคำว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีผู้ให้คำนิยามไว้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีคำจำกัดความใดที่ใช้เป็นคำอธิบายไว้อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีดังนี้
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การดำเนินธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์” (ศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, 2542)”
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การผลิต การกระจาย การตลาด การขาย หรือการขนส่งผลิตภัณฑ์และบริการโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์” (WTO, 1998)
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ ธุรกรรมทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทั้งในระดับองค์กรและส่วนบุคคล บนพื้นฐานของ การประมวลและการส่งข้อมูลดิจิทัลที่มีทั้งข้อความ เสียง และภาพ” (OECD, 1997)
จากความหมายของ e-business กับ e-commerce จะเห็นได้ว่าสองคำนี้มีความหมายที่ใกล้เคียงกัน แต่อันที่จริงแล้วมีความหมายต่างกัน
โดย e-business สรุปความหมายได้ว่าคือการทำกิจกรรมทุกๆอย่าง ทุกขั้นตอนผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีขอบเขตกว้างกว่า แต่ e-commerce จะเน้นที่การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เนตเท่านั้น 
จึงสรุปได้ว่า e-commerce เป็นส่วนหนึ่งของ e-business
ประเภทของ E-Commerce  
ผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค (Business to Consumer - B2C)
คือการค้าระหว่างผู้ค้าโดยตรงถึงลูกค้าซึ่งก็คือผู้บริโภค เช่น การขายหนังสือ ขายวีดีโอ ขายซีดีเพลงเป็นต้น
ผู้ประกอบการ กับ ผู้ประกอบการ (Business to Business – B2B) คือการค้าระหว่างผู้ค้ากับลูกค้าเช่นกัน แต่ในที่นี้ลูกค้าจะเป็นในรูปแบบของผู้ประกอบการ ในที่นี้จะครอบคลุมถึงเรื่อง การขายส่ง การทำการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain Management) เป็นต้น ซึ่งจะมีความซับซ้อนในระดับต่างๆกันไป
ผู้บริโภค กับ ผู้บริโภค (Consumer to Consumer - C2C) คือการติดต่อระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคนั้น มีหลายรูปแบบและวัตถุประสงค์ เช่นเพื่อการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ในกลุ่มคนที่มีการบริโภคเหมือนกัน หรืออาจจะทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง ขายของมือสองเป็นต้น
ผู้ประกอบการ กับ ภาครัฐ (Business to Government – B2G)
คือการประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ที่ใช้กันมากก็คือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ หรือที่เรียกว่า e-Government Procurement ในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว รัฐบาลจะทำการซื้อ/จัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เช่นการประกาศจัดจ้างของภาครัฐในเว็บไซต์ www.mahadthai.com
ภาครัฐ กับ ประชาชน (Government to Consumer -G2C)
ในที่นี้คงไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการค้า แต่จะเป็นเรื่องการบริการของภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยเองก็มีให้บริการแล้วหลายหน่วยงาน เช่นการคำนวณและเสียภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตการให้บริการข้อมูลประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เช่นข้อมูลการติดต่อการทำทะเบียนต่างๆของกระทรวงมหาดไทย ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบว่าต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างในการทำเรื่องนั้นๆ และสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มบางอย่างจากบนเว็บไซต์ได้ด้วย

                        ส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งในการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำ E-Commerce คือการเพิ่มความน่าเชื่อถือเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการโดยการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
คำแนะนำการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และภารกิจหนึ่งที่สำคัญ คือ การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และการออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBDregistered) ให้แก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน

ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ ได้ถ่ายโอนอำนาจจดทะเบียนพาณิชย์ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดแล้ว โดยที่กระทรวงพาณิชย์ยังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 กำกับดูแลด้านนโยบายในการจดทะเบียนพาณิชย์ และเป็นศูนย์กลางข้อมูลทะเบียนพาณิชย์ทั่วราชอาณาจักร

ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังคงมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่อไป เพื่อเพิ่มโอกาสและขยายช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนแล้ว ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเช่นเดิม

ประโยชน์ของการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1. สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการในระดับหนึ่ง โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBDregistered) ให้แก่ผู้ประกอบการที่ จดทะเบียน เพื่อนำไปแสดงไว้บนเว็บไซต์ของตนเอง เมื่อผู้บริโภค (ผู้ซื้อ) เห็นเครื่องหมาย DBDregistered แล้วจะเกิดความมั่นใจในการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น

2. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะนำรายชื่อเว็บไซต์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ไปเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ของกรมฯ (www.dbd.go.th) เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ของผู้ประกอบการอีกช่องทางหนึ่ง

3. ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนแล้ว สามารถยื่นขอใช้เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ (DBDverified) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ ซึ่งเครื่องหมาย DBDverified นี้จะมี ความน่าเชื่อถือสูงกว่าเครื่องหมาย DBDregistered กล่าวคือ จะออกให้แก่เว็บไซต์ที่มีคุณภาพเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมฯ กำหนดเท่านั้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.trustmarkthai.com)

4. การได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วมอบรมสัมมนา การได้รับคำแนะนำ และการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 
ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
1. ซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
2. บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP)
3. ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting)
4. บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ (e-Marketplace)

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียน
- มีระบบการสั่งซื้อ เช่น ระบบกรอกฟอร์ม ระบบตะกร้า e-mail หรืออื่น ๆ
- มีระบบการชำระเงิน ออฟไลน์ หรือ ออนไลน์ เช่น การโอนเงินผ่านระบบบัญชี การชำระด้วยบัตรเครดิต
หรือ e-cash เป็นต้น
- มีระบบสมัครสมาชิก เพื่อรับบริการข้อมูลหรืออื่น ๆ โดยมีการคิดค่าใช้จ่าย (ถือเป็นการขายบริการ)
- มีวัตถุที่ประสงค์หลักในการรับจ้างโฆษณาสินค้าหรือบริการของผู้อื่น และมีรายได้จากการโฆษณานั้น
- รับจ้างออกแบบเว็บไซต์ หรือเพียงโฆษณาว่าเป็นผู้รับจ้างออกแบบเว็บไซต์ (ถือว่าการออกแบบเว็บไซต์
นั้นมีช่องทางการค้าปกติบนอินเทอร์เน็ต)
- เว็บไซต์ให้บริการเกมส์ออนไลน์ที่คิดค่าบริการจากผู้เล่น (เจ้าของเว็บไซต์ต้องจดทะเบียน)- เว็บไซต์ที่มีการส่งมอบสินค้าหรือบริการผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น การ Download เพลงโปรแกรม เกมส์ Ringtone Screensaver SMS เป็นต้น

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ ไม่ต้องจดทะเบียน
- มีเฉพาะหน้าร้านโชว์สินค้าของตนเอง แต่ทำการค้าในช่องทางปกติ (ไม่ใช่อินเทอร์เน็ต) แม้จะมีข้อความตัวอย่างเว็บไซต์ที่ ไม่ต้องจดทะเบียนแจ้งว่าให้ติดต่อได้ เช่น สนใจโทร.ติดต่อหรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
- การโฆษณาสินค้าของตนเอง โดยลักษณะของการโฆษณานั้นไม่ใช่วัตถุที่ประสงค์หลักของกิจการและไม่ใช่ช่องทางค้าปกติ แม้จะมี banner ของผู้อื่นมาติดและมีรายได้จาก banner ก็ตาม
- การประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ข้อมูลแก่สมาชิกหรือบุคคลทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือบริการ เช่น เพื่อการสอน ประกาศรับสมัครงาน
- การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท หรือสินค้า
- เว็บไซต์ส่วนตัว (ส่วนบุคคล) ที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว การงาน การศึกษา หรือความสนใจส่วนตัว- เว็บไซต์ที่เป็นสื่อกลางด้านข้อมูล โดยมีจุดประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยไม่มีการเสียค่าสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ

ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
1. ทำเว็บไซต์ให้เสร็จเรียบร้อยพร้อมออนไลน์ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
2. ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
3. ยื่นเอกสารเพื่อขอใช้เครื่องหมาย DBD Registered

ข้อมูลมาจากเว็บ www.dbd.go.th

ที่มา : 
  1.http://www.ecommerce.or.th/project/e-guide/index.html
       : e-Commerce FAQ คำถามนี้มีคำตอบ โดยศูนย์พัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ หน้า 19-20
       : หนังสือ e-commerce คู่มือประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หน้า 36-38
  2. 
http://www.thaiwbi.com/topic/E-Ecommerce
  3. 
http://202.28.94.55/webclass/pub-lesson.cs?storyid=278

  4. http://www.thaiecommerce.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=538636758

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น